แถลงข่าว “ช่วยกันรักษาการละเล่นไทยไว้ให้เด็กไทย”เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2566


โดย รศ.ดร.บัญญัติ ยงย่วน

อาจารย์ประจำหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการละเล่นเด็กไทย ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว


การละเล่นไทย นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงพลังในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก แต่ปัจจุบันได้
เลือนหายไปจากการเล่นของเด็กตามโรงเรียนตามหมู่บ้าน สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวได้เล็งเห็นสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงนี้จึงได้ดำเนินการวิจัยถึงวิธีการเล่นแบบดั้งเดิม ประโยชน์ของการเล่นและผลักดันให้ชุมชน โรงเรียนได้ช่วยกันส่งเสริมให้เป็นการเล่นของเด็กๆ

รองศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ ยงย่วน ได้กล่าวถึงที่มาของการละเล่นไทยว่า การละเล่นไทยถือเป็น
มรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษไทยออกแบบ คิดค้น พัฒนา มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พัฒนาต่อยอดมาจนถึงสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นการใช้เวลาว่างเพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรง หลังว่างจากศึกษาสงครามหรือว่างจากการทำนาทำไร่ การละเล่นไทยมีการพัฒนารูปแบบอย่างหลากหลาย การละเล่นไทยนอกเหนือจากความสนุกสนานแล้ว ยังเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการสู้รบและเป็นประโยชน์ในการศึกสงคราม

รองศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ ยงย่วน ได้กล่าว ถึงประโยชน์ของการละเล่นไทยในการกระตุ้น
พัฒนาการเด็กว่า ในการจัดกิจกรรมการละเล่นไทยที่คนทั่วไปคิดว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย แท้จริงแล้ว เมื่อพิจารณาการละเล่นไทยมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการให้กับผู้เล่น โดยเฉพาะเด็กๆเป็นอย่างมาก แม้ปัจจุบันความนิยมในการเล่นจะลดน้อยลงไปอย่างมาก แต่คุณค่าของการละเล่นไทยกลับโดดเด่น ภายใต้บริบทของยุคเทคโนโลยี ที่คนมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ส่งผลเสียต่อสุขภาพทางด้านร่างกาย  รวมทั้งเด็กยังขาดทักษะสังคม ไม่มีความสามารถที่เพียงพอในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากนัก เนื่องจากการเล่นจากสมาร์ทโฟนเป็นส่วนใหญ่

จึงมีนักวิชาการ มหาวิทยาลัยหลายๆ ท่านทำการศึกษาวิจัย คุณค่าและประโยชน์ของการละเล่นไทย พบว่า มีความสามารถในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก การละเล่นไทยไม่ใช่เพียงแต่การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งดีที่แฝงอยู่มาก การละเล่นไทยส่วนใหญ่ใช้วิธีการเล่นที่มีการชี้นำ กติกาไม่ยุ่งยากซับซ้อน ยืดหยุ่นจำนวนผู้เล่น ใช้อุปกรณ์น้อยมาก หรือถ้าใช้ก็เป็นของที่หาง่ายใกล้ตัว

เพราะเป็นการเล่นที่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นสำคัญ การละเล่นไทย อาทิ เสือกินวัว ผีเข้าขวด หรือลิงชิงหาง เป็นกิจกรรมที่สามารถแก้ปัญหาเด็กไทยที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงได้ การส่งเสริมให้เด็กไทยมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายผ่านกิจกรรมการละเล่นไทย นอกจากจะส่งเสริมพัฒนาการของร่างกาย อาทิ ความแข็งแรง ความคล่องแคล่วว่องไว ความทนทาน การทรงตัว ความอ่อนตัวความแม่นยำ ความเร็ว และการประสานงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อแล้ว

การละเล่นไทยยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ อาทิเกิดความสมดุลทางอารมณ์ ผู้เล่นได้ฝึกการควบคุมอารมณ์ ความอดกลั้นการยับยั้งชั่งใจ ผ่อนคลายความตึงเครียด เกิดความพึงพอใจ พัฒนาการทางสังคม อาทิฝึกการใช้ชีวิตในสังคมร่วมกัน การยอมรับกติกา ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นผู้นำผู้ตามที่ดี มีน้ำใจนักกีฬา ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละต่อส่วนรวม และเคารพในสิทธิของผู้อื่น พัฒนาการทางสติปัญญา อาทิฝึกการใช้ปฏิภาณไหวพริบ ใช้ความคิด ฝึกความจำ การใช้ภาษา การสังเกต แยกแยะความแตกต่าง ความมีเหตุผล เรียนรู้การตัดสินใจ การแก้ปัญหา และส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเสาหลักที่จะกระตุ้น
ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก โดยการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กว้างขวาง มีการหยิบประเด็นการละเล่นไปสู่
สาธารณะ สู่โรงเรียนและชุมชนได้ให้มากขึ้น เพื่อให้การละเล่นไทยกลับฟื้นคืนมาได้ รูปแบบที่มีการจัด ในปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยได้มีการนำกิจกรรมการละเล่นไทยมาใช้ นับว่าเป็นต้นแบบหรือแนวทางให้กับสถานศึกษาอื่นๆ ได้ใช้ต่อไป

ซึ่งนอกจากการจัดกิจกรรมแล้วยังมีในส่วนของการศึกษาวิจัยและการจัดอบรมองค์ความรู้ให้กับคุณครู สถานศึกษา และผู้ปกครองให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการละเล่นไทย อย่างต่อเนื่อง มีการรณรงค์ ส่งเสริมให้สถานศึกษาและชุมชนนำการละเล่นไทยไปจัดในงานวันสำคัญๆ ต่างๆ อาทิวันสงกราต์ อาจจะมีการจัดกิจกรรมในชุมชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การละเล่นไทยผ่านผู้สูงอายุที่เป็นผู้นำกิจกรรม หรือโรงเรียน สถานศึกษานำการละเล่นไทยไปใช้ในกีฬาสี ที่นอกจากกิจกรรมการเล่นสากลแล้ว ให้มีการสอดแทรกการละเล่นไทยอยู่ในกิจกรรมด้วย วันเด็ก รูปแบบกิจกรรมนอกจากการร้อง เล่น เต้นทั่วไปแล้ว อาจจะมีการจัดแข่งขันการละเล่นไทยร่วมด้วย และในงานปีใหม่ สามารถนำกิจกรรมการละเล่นไทยมาเป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ ยงย่วน ได้กล่าว3ทิ้งท้ายเนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2566 ว่า

สุดท้ายนี้ในวันเด็ก  อยากจะเห็นครูและผู้ปกครองนำการละเล่นไทยมาให้เด็กๆ ได้เล่น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความประทับใจในการละเล่นไทยสำหรับครั้งแรกของเด็ก นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังจะเป็นการจุดประกายให้กับครูและผู้ปกครองให้เกิดความคิดและแนวทางในการจัดกิจกรรมการละเล่นไทยในห้องเรียน และอยากให้ในวันเด็กทั้งในปีนี้และปีหน้า มีการนำกิจกรรมการละเล่นไทย หรืออาจจะเป็นการสาธิตกิจกรรม เพื่อเผยแพร่ให้ห้องเรียนตามรายวิชาพลศึกษาหรือวิชาลูกเสือให้มากขึ้น ส่งผลให้การละเล่นไทยมีการฟื้นคืนและสร้างคุณประโยชน์ในการส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็กให้ดีขึ้นต่อไป

 


สื่อมวลชนสัมภาษณ์ข้อมูลได้ที่
รศ.ดร. บัญญัติ ยงย่วน โทร 086 9615723
อาจารย์ประจำหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการละเล่นเด็กไทย
ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
คุณนันทนัช สงศิริ โทร. 089-1350713

 


ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม วันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้กิจกรรม “ตะลุยการละเล่นไทย” เพื่อรักษาการละเล่นไทยไว้ให้เด็กไทย ในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2566 เวลา 09.00 – 12.00 น.